การศึกษา 2024-02-29 16:05:30 133
การประชุมบันทึกข้อตกลงเพื่อดำเนินงานนโยบายและมาตรการเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเชิงสถานการณ์และพฤติกรรมด้านการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย  และการจัดงานบันทึกข้อตกลงในระดับพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี  ภายใต้กลยุทธ์ “PA มา PA(พา) เด็กน้อยม่วน”

รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในระดับนโยบาย “โครงการพัฒนาฐานข้อมูลเชิงสถานการณ์และพฤติกรรมด้านการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย” ร่วมกับ ดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และนายสำเนียง สิมมาวัน ผู้แทนส่วนท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อร่วมดำเนินงานนโยบายและมาตรการเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเชิงสถานการณ์และพฤติกรรมด้านการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย โดยมี นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี คณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานคู่ความร่วมมือทั้ง 6 แห่ง เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมโรงแรมสุนีย์แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสุขภาพกลุ่มเด็กปฐมวัย ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มุ่งยกระดับสติปัญญา พัฒนาการ และการเจริญเติบโต สู่เป้าหมายการส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัยของเด็กปฐมวัยไทยผ่านการกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ


นอกจากนี้ ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในระดับพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเข้าร่วมพิธีลงนามเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและทำการศึกษานำร่อง นำนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่น สำหรับการเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศไทย ภายใต้กลยุทธ์ “PA มา PA(พา) เด็กน้อยม่วน”

โดยการบันทึกข้อตกลงนี้เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทยโดยใช้หลักการมาตรฐานสากล รวมถึงสร้างกลไกการติดตามเฝ้าระวัง และพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายและมาตรการที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็กปฐมวัยไทยให้มีพัฒนาการสมวัย เติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มโครงการสำคัญในการชี้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กปฐมวัยในประเทศไทยว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ “การจัดทำชุดความรู้และข้อมูลวิชาการเพื่อสนับสนุนการออกแบบนโยบาย ด้านกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย (SUNRISE-THAILAND)” ร่วมกับเครือข่าย SUNRISE 32 ประเทศทั่วโลก ที่ได้ทำการสำรวจกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นโครงการโดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้ฐานข้อมูล มีชุดความรู้ ข้อมูลเชิงวิชาการ และเครื่องมือด้านการวัดและติดตามผลเชิงพฤติกรรมที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อขยายเครือข่ายทางวิชาการด้านกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชน


จากการสำรวจข้อมูลโดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นข้อมูลจากการสำรวจนำร่องในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กปฐมวัยอายุ 3-4 ปี พบว่า มีเพียงร้อยละ 25.4 หรือประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่เพียงพอ นั่นหมายความว่า อีก 3 ใน 4 ที่ยังคงมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย, 2566)

เนื่องจากสถานการณ์พัฒนาการล่าช้าของเด็กปฐมวัยในจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงในลำดับต้นๆ ของประเทศ เพราะกำลังเผชิญปัญหาเรื่องเด็กปฐมวัย อาทิ “1 ใน 5 มีพัฒนาการสงสัยล่าช้า” (HDC, 2566) การช่วยเหลือให้เด็กได้รับการส่งเสริมให้ครบทุกด้าน และทุกช่วงอายุ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เด็กได้ “เล่น” หรือ “มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ” เพื่อยกระดับสติปัญญา พัฒนาการ และการเจริญเติบโตของเด็กอุบลราชธานี สู่เป้าหมายพื้นที่ต้นแบย่บการส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัย IQ ดี ภายใต้กลยุทธ์ “PA มา PA(พา) เด็กน้อยม่วน” เนื่องจากพบว่ากิจกรรมทางกายที่มีพื้นฐานมาจาก “การเล่น” (Active Play) เป็นทางเลือกที่ “ดีที่สุด” สำหรับเด็กปฐมวัย(WHO, 2019; WHO, 2022)

นอกจากการบันทึกความตกลง ภายในงานยังจัดเวทีเสวนา “การดำเนินงานนโยบายและมาตรการเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเชิงสถานการณ์และพฤติกรรมด้านการเคลื่อนไหว เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย” โดยมีเนื้อหาการเสวนา ดังนี้

นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะประชากรลดลง โดยอยู่ในอันดับ 23 ของโลก จาก 198 ประเทศ ที่ประชากรมีแนวโน้มลดลง 50% ภายในปี 2543 กระทรวงสาธารณสุขได้ ได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพคลินิกส่งเสริมการมีบุตรคุณภาพภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ พร้อมจัดทำแคมเปญ “Give Birth Great World” เป็นโครงการระดับประเทศและอาจเชิญชวนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้เข้าร่วม ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของการเกิดเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย โดยมุ่งหวังสร้างสังคมที่เอื้อต่อการมีบุตร และช่วยให้เด็กเกิดมามีสุขภาพดีเน้นพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เติมโตอย่างมีคุณภาพ นำการเคลื่อนไหวมาส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างรอบด้าน โดยใช้การส่งเสริมการเล่น เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ 5 ด้าน ให้เด็กไทยสูงดีสมส่วนเติมโตไปเป็นผู้ใหญ่สู่วัยทำงานที่ดี มีคุณภาพเป็นรากฐานในการพัฒนาสสังคมที่ดีต่อไป

ขณะที่ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากผลการเฝ้าระวัง พบว่า ยังมีเด็กไทยจำนวนหนึ่งที่พัฒนาการไม่สมวัย โดยเฉพาะด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม ซึ่ง สสส. มุ่งเน้นการส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยในทุกด้าน เน้นการกระตุ้นพัฒนาการผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะชีวิต ครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษา และร่วมสร้างพื้นที่เอื้อต่อการพัฒนาการของเด็กซึ่งช่วงปฐมวัยเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการพัฒนาสมอง เด็กควรได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม ผ่านการรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้จากโครงการและแคมเปญต่างๆ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการเด็กให้ดีสมวัย เช่น แคมเปญสามเหลี่ยมสมดุล ซึ่งเป็นหนึ่งในแคมเปญที่เสริมสร้างให้เด็กไทยได้มีกิจกรรมทางทายผ่านการเล่น รวมถึงการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่และนอนหลับที่เพียงพออีกด้วย ซึ่งจากการวิจัยที่ผ่านมาของ สสส. จะพบว่า “การลงทุนในวัยเด็กให้สมวัย” ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในการวางรากฐานที่ยั่งยืนให้เด็กไทยได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพแก่ประเทศ


ด้าน นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กล่าวว่า ศูนย์อนามัยฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยเครื่องมือ DSPM /DAIM โดยมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง อาสาสมัครสาธารณสุข และครูผู้ดูแลเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้ความร่วมมือในการติดตามเฝ้าระวัง โดยมีเป้าหมาย คือ การส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยในทุกด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา พัฒนาการด้านการเข้าใจภาษา พัฒนาการด้านการใช้ภาษา และพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาทักษะทางสมอง ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะการทำงานของสมองขั้นสูง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และทำให้เด็กมีความสูงดีสมส่วน โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์สาธิตส่งเสริมพัฒนาการทักษะสมองเด็กปฐมวัย ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี โดยใช้การสร้างหลักสูตรโมเดล EF เป็นนโยบายขับเคลื่อนไปยังพื้นที่เป้าหมายในเขตอำเภอต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของศูนย์อนามัยที่ 10 ซึ่งได้ขยายผลการดำเนินงานไปแล้วกว่า 300 แห่งในพื้นที่

นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างยั่งยืน โดยได้นำนโยบายการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มเด็กปฐมวัยของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาขับเคลื่อนในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง เพราะจากข้อมูลรายงานการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กประถมวัยในจังหวัดอุบลราชธานี พบว่าเด็กปฐมวัยในจังหวัดประสบปัญหาการมีพัฒนาการล่าช้า โดยพบพัฒนาไม่สมวัยด้านภาษา และการเข้าใจภาษา ซึ่งปัญหานี้ส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของเด็ก ซึ่งจากผลการวัดระดับสติปัญญาเฉลี่ยของจังหวัดอุบลราชธานี พบว่าค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญา (IQ) เท่ากับ 98.13 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับประเทศ แต่เมื่อเทียบกับการสำรวจในปี 2559 จังหวัดอุบลราชธานีมีค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาเท่ากับ 89.6 พบว่าค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาของเด็กจังหวัดอุบลราชธานี เพิ่มขึ้น 8.46 อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่พัฒนาการล่าช้า จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดนำร่องของโครงการการดำเนินงานนโยบายและมาตรการเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเชิงสถานการณ์และพฤติกรรมด้านการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนให้เด็กปฐมวัยในจังหวัดมีพัฒนาการสมวัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 2 ประเด็นการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมสู่เมืองสุขภาพ โดยนำเอาเครื่องมือ DSPM /DAIM ในการประเมินความสมวัยของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยในทุกด้าน และใช้การเล่นเป็นเครื่องมือหนุนเสริมพัฒนาการการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตทั้งด้านร่างกาย และจิตใจให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะในหลายด้าน อันจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะการทำงานของสมองเพื่อให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

 

 


รูปภาพเพิ่มเติม